เวลาทำการ

เปิดทุกวัน

ฉุกเฉินติดต่อได้ 24 ชม.

Book Now

@travelspree

Travel License : 11/06647

หน้าแรก

/

บทความท่องเที่ยว

/

ทิเบต ดินแดนสวรรค์บนหลังคาโลก สวยจนอยากหยุดเวลาไว้

ทิเบต ดินแดนสวรรค์บนหลังคาโลก สวยจนอยากหยุดเวลาไว้

07

Oct

ทิเบต

ทิเบต ดินแดนสวรรค์บนหลังคาโลก สวยจนอยากหยุดเวลาไว้

ทิเบต (Tibet) หนึ่งในจุดหมายปลายทางในฝันของใครหลายคน ที่ปักหมุดว่าอยากจะไปท่องเที่ยวสักครั้งในชีวิต ด้วยภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งภูเขา ที่ราบสูง ทะเลสาบ และภูมิอากาศเย็นสบายตลอดเกือบทั้งปี รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบพุทธศาสนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไป สำหรับคนที่อยากทำความรู้จักทิเบตให้มากขึ้น เราได้รวบรวมข้อมูลบางส่วนมาฝากกัน หากมีโอกาสก็ค่อยเดินทางไปสัมผัสด้วยตาตัวเอง

มาทำความรู้จักทิเบต

ทิเบตตั้งอยู่ที่ไหน
เขตปกครองตนเองทิเบต หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ทิเบต ตั้งอยู่ใจกลางทวีปเอเชีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีพื้นที่ติดต่อกับมณฑลต่าง ๆ ของจีน ประเทศภูฏาน และประเทศเนปาล โดยมีเมืองหลวงชื่อ ลาซา (Lhasa) จัดเป็นเขตปกครองตนเองที่มีพระเป็นผู้นำ ชาวทิเบตจึงนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน

ทิเบต มีพื้นที่ทั้งหมด 1,200,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วย 7 จังหวัด ดังนี้
 
ลาซา (เมืองหลวง)
น่าชูตี้ชู (Nagchu Prefecture)
ชางตูตี้ชู (Chamdo Prefecture)
หลินจือตี้ชู (Nyingtri Prefecture)
ชานหนานตี้ชู (Shannan Prefecture)
ลื่อคาเสอตี้ชู (Shigatse Prefecture)
อาหลี่ตี้ชู (Ngari Prefecture)

ภูมิประเทศและภูมิอากาศของทิเบต
ทิเบตตั้งอยู่บนพื้นที่ชิงไห่-ทิเบต ซึ่งเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลด้วยความสูงเฉลี่ย 4,000 เมตร จนได้รับฉายาว่า หลังคาของโลก (The Roof of the World) พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาที่มียอดเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนตลอดทั้งปี ทำให้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นมาก และมีความกดอากาศและออกซิเจนที่ต่ำ

สภาพแวดล้อมของทิเบต
ทิเบตถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในระดับโลกประจำปี 2019 โดยมีระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นที่มีเสถียรภาพและสมบูรณ์อย่างมาก แทบจะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่นี้เลย ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 2019 ทิเบตได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติรวม 47 แห่ง คิดเป็น 34.35% ของพื้นที่ทั่วทิเบต

ประวัติศาสตร์ของทิเบต
ทิเบต เริ่มมีร่องรอยของอาณาจักรเกิดขึ้นในช่วงสมัยศตวรรษที่ 7 โดยเป็นอาณาจักรอิสระมีเมืองลาซาเป็นเมืองหลวง และมีลัทธิโบน (Bonism) เป็นลัทธิที่เก่าแก่ของทิเบต บูชาสวรรค์ เทวดา และต้นไม้ จากนั้นก็เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง และเริ่มมีการศึกษาเทคโนโลยีทางการผลิต ผลงานทางการเมือง และวัฒนธรรมที่ทันสมัย

ถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทิเบตก็ได้รวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แต่ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมและกฎข้อห้ามในการนับถือศาสนาในทิเบต จนกระทั่งต่อมาประเทศจีนประกาศให้ทิเบตเป็นเขตการปกครองตนเองภายใต้การปกครองรูปแบบเดิม คือมีองค์ดาไลลามะเป็นผู้นำ ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในทิเบต

  • เมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบต ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของที่ราบสูงทิเบต อยู่ทางเหนือของเทือกเขาหิมาลัย มีแม่น้ำลาซาไหลผ่าน นับว่าเป็นเมืองที่สูงที่สุดในโลก โดยมีระดับความสูงอยู่ที่ 3,650 เมตร เหนือน้ำทะเล เมืองนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ พระราชวังโปตาลา (Potala Palace) สร้างขึ้นมาในคริสตวรรษที่ 7 โดยกษัตริย์ ซงจ้าน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต เดิมทีเป็นป้อมและตำหนักเล็ก ๆ แต่ต่อมาก็ได้ใช้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนในศาสนาพุทธ โดยปัจจุบันพระราชวังโปตาลากลายเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานสักการะ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พระราชวังแดง ขาว และเหลือง

  • วัดโจคัง (Jokhang Temple) วัดโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวทิเบต สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดดเด่นไปด้วยงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสาน ศิลปะอินเดีย ศิลปะจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และศิลปะเนปาล เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ไฮไลต์สำคัญคือมีหลังคาสีทองอร่ามตาประดับประดาสวยงาม บนหลังคาวัดมีรูปธรรมจักรและกวาง 2 ตัวนอนหมอบขนาบข้างหันหน้าเข้าหาธรรมจักร หุ้มด้วยทองคำแท้ เป็นดังสัญลักษณ์แห่งพระธรรมจักรกัปวัตนสูตร ปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1994 พร้อมกับพระราชวังโปตาลา วัดโจคังยังเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความศรัทธาของชาวทิเบต ซึ่งแต่ละวันจะเดินทางมาสวดมนต์สักการะพระพุทธรูป โดยเฉพาะการกราบพระแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” นั่นถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวทิเบต ที่สร้างความน่าประทับใจให้กับชาวต่างชาติผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี

  • อารามซัมเย (Samye Monastery) วัดแห่งแรกของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทิเบต สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของลาซาประมาณ 200 กิโลเมตร บนฝั่งแม่น้ำยาร์ลุงที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและธรรมชาติ สร้างตามความเชื่ออินเดีย คือ มีวิหารหลักเปรียบดังเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล มีอาราม 4 ทิศ เปรียบเสมือนทวีปทั้งสี่ และมีอารามด้านนอกอีกแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ของประทีปในจักรวาล มีสถูปทางทิศเหนือและใต้ แทนพระอาทิตย์และพระจันทร์ ขณะที่ตัววิหารกลางมีสามส่วน ส่วนล่างสุดเป็นสถาปัตยกรรมแบบทิเบต ส่วนกลางเป็นแบบจีน และส่วนบนเป็นแบบอินเดีย

  • เบสแคมป์ก่อนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ (Everest) ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก อยุู่บนเทือกเขาหิมาลัย ช่วงเขตพรมแดนประเทศเนปาลและทิเบต ทำให้มีที่ตั้งของเบสแคมป์ก่อนขึ้นยอดเขา (Base Camp) 2 แห่ง คือ ฝั่งทิศใต้ เป็นฝั่งของประเทศเนปาล ต้องเดินเขาขึ้นไป แต่ฝั่งทิศเหนือจะเป็นฝั่งของทิเบต สามารถขับรถไปได้ และอยู่ท่ามกลางธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงามและกว้างใหญ่กว่า ทั้งนี้ ในระหว่างทางไปเบสแคมป์จะพบกับ อารามรงบุก (Rongbuk) นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์สองข้างที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติและขุนเขา

  • เขาไกรลาส (Mount Kailash) ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกของทิเบต มีความสูง 22,020 ฟุต จัดว่าเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 19 ในบรรดาเทือกเขาหิมาลัย มีอายุกำเนิดถึงปัจจุบันกว่า 50 ล้านปี ชาวฮินดูเชื่อว่า ยอดเขาแห่งนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ประทับของพระศิวะ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำให้ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวมากมายที่เลื่อมใสในศาสนา ทั้งชาวพุทธและชาวฮินดูมาแสวงบุญด้วยการเดินเท้ารอบภูเขาไกรลาสเป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร

  • อาณาจักรกูเก / กู่เก๋อ (Guge Kingdom) อาณาจักรโบราณกูเก หรือถ้าอ่านแบบภาษาจีนคือ กู่เก๋อ ตั้งอยู่ในเขตซาด้า (Zhada) แคว้นงาริ (Ngari) ของทิเบตตะวันตก เคยเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะล่มสลายและสูญหายไปเมื่อเกิดสงครามทางศาสนา และการปฏิรูปทางวัฒนธรรมขึ้นในศตวรรตที่ 17 จนมาค้นพบอีกครั้งหนึ่งโดยชาวอิตาลี ปัจจุบันยังมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ ประกอบด้วย ถ้ำ บ้านเดี่ยว แนวตึกแถว และเจดีย์ ทั้งนี้ รอบ ๆ อาณาจักรยังปรากฏแนวกำแพงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นรูปร่างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สวยงามแปลกตา

  • ทะเลสาบนัมโช (Nam Tso Lake) หนึ่งในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต อยู่ห่างจากเมืองลาซาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 240 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน มีความยาวกว่า 70 กิโลเมตร กว้าง 30 กิโลเมตร ในช่วงฤดูร้อนน้ำในทะเลสาบจะเป็นสีเขียวอมฟ้าตัดกับเทือกเขาหิมะเนียนเซ็นถังลา (Nyenchen Tanglha) ทางทิศใต้ของทะเลสาบ

อาหารทิเบตที่น่าลิ้มลอง

อาหารทิเบต เกิดจากการผสมผสานเมนูจีนและเครื่องเทศจากอินเดียเล็กน้อย ส่วนใหญ่อาหารของทิเบตมักจะทำมาจากพืชไร่อย่างข้าวบาเลย์และผลไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกได้ที่ระดับความสูง เช่น กล้วย ส้ม และเลมอน โดยอาหารหลักของทิเบตที่นิยมกินกันมีมากมาย เช่น
 
  • แซมปา (Tsampa) อาหารประจำชาติของทิเบต เป็นแป้งโม่จากข้าวบาเลย์ และบางครั้งเป็นข้าวสาลี หรือข้าว มักจะผสมกับชาเนยแบบทิเบตที่มีรสเค็ม กินคู่กับโยเกิร์ตทำจากนมของจามรี

  • บาเลบ (Balep) ขนมปังที่นิยมกินเป็นมื้อเช้าหรือมื้อกลางวัน มีทั้งแบบมีและไม่มีใส้ด้านใน

  • ทุกปา (Thukpa) ก๋วยเตี๋ยวแบบทิเบต นิยมกินเป็นมื้อเย็นคล้ายพาสตา มีผักและเนื้อสัตว์ในน้ำซุป

  • โมโม (Momo) เป็นเกี๊ยวหรือขนมจีบที่มีต้นกำเนิดในทิเบต ด้านนอกเป็นแป้งบางเนื้อนุ่ม ไส้ด้านในนิยมทำมาจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น แพะ กระบือ ไก่ หมู และจามรี ผัดกับหอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม และผักชี นิยมกินกับซอสหรือน้ำจิ้มหลายแบบ โดยปกติจะมีพริก มะเขือเทศ และกระเทียม

  • ชาเนยจามรี เครื่องดื่มที่ชาวทิเบตชื่นชอบและดื่มเกือบจะตลอดทั้งวัน เพราะต้องสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ชาเนยยังมีคุณสมบัติในการแก้อาการแพ้บนที่ราบสูง และยังช่วยไม่ให้ริมฝีปากแห้งแตกได้อีกด้วย

รู้ไว้ก่อนไปเที่ยวทิเบต

  • - ไม่มีสายการบินตรงกรุงเทพฯ - ทิเบต ส่วนใหญ่แล้วต้องบินไปที่สนามบินใกล้เคียงในประเทศจีน เช่น คุนหมิง เฉิงตู กวางเจา ปักกิ่ง ฉงชิ่ง และซีอาน จากนั้นจึงต่อไปยังท่าอากาศยานลาซากุงข่า ซึ่งอยู่ในนครลาซาอีกที

  • - นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟเข้าทิเบตได้ โดยขึ้นที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน และสิ้นสุดที่ลาซา เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวกับความสูงและความกดอากาศที่ต่ำเพราะอยู่บนพื้นที่สูง

  • - ควรพกยาป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในกรณีที่ขึ้นที่สูง เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น รวมถึงยาที่ช่วยย่นระยะเวลาในการปรับตัวเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ
 
  • - สภาพอากาศ ในช่วงฤดูร้อนของทิเบต (เดือนมีนาคม-เมษายน) อุณหภูมิจะอยู่ที่ 15-22 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) อุณหภูมิจะลดลงถึงติดลบ 2 เลยทีเดียว
 
  • - สกุลเงิน ทิเบตใช้เงินหยวนของประเทศจีน
 
  • - ระบบไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ทิเบตใช้กำลังไฟและรูปแบบปลั๊กแบบเมืองไทย คือ 220 โวลต์ และปลั๊กขาแบน
 
  • - เวลาที่ทิเบตจะเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

  • - นักท่องเที่ยวควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ และควรกินลูกอมหรือช็อกโกแลต เพื่อเพิ่มความสดชื่นและทำให้ร่างกายมีพลังงานมากขึ้น
 
  • - พยายามสูดหายใจลึก ๆ ไม่ควรรีบเร่ง หากมีอาการหัวใจเต้นรัวเร็ว ควรหยุดนั่งพักเสียก่อน หรืออาจจะหาซื้อ ออกซิเจนกระป๋อง ติดตัวไปในระหว่างการท่องเที่ยวได้
 
  • - เครื่องแต่งกาย ควรเลือกที่ทนแดดทนฝน กันลม และหนาเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย รองเท้าควรมีความทนทาน ใส่สบาย และกันน้ำ
 
  • - แว่นกันแดดและหมวก ควรพกติดตัวไปด้วยเพื่อป้องกันแสงแดดจัดในเวลากลางวัน รวมถึงหมั่นทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง และลิปบาล์ม เพื่อป้องกันผิวไหม้และอากาศที่แห้งมาก

คัดลอกข้อมูลและรูปภาพจาก travel.kapook.com

ท่านไหนสนใจทริปทิเบต ติดต่อสอบถาม ทราเวล สปรี ได้ที่

Line ID:   @travelspree  
HotLine  086-313-1989





จำนวนผู้เข้าชม 62 ครั้ง